เช้านี้ (15 ส.ค. 60) เวลา 10.00 น. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข ณ ห้องประชุมแพทยพัฒน์ ชั้น 5 อาคารสำนักการแพทย์ เพื่อติดตาม และรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2560 (กันยายน 59 – สิงหาคม 60) โดยมี ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารสำนักอนามัย และผู้บริหารศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ เข้าร่วมประชุม
นพ.สมชาย จึงมีโชค รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รายงานผลความสำเร็จ 15 ปี ของโครงการฯ พร้อมสรุปการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายงบประมาณของโครงการปี 2560 ได้แก่ โครงการ BMA-DGHP-Zoo โครงการ DGMQ-NR7 โครงการ BMA-Cascade โครงการ BMA-SI โครงการ BMA-HTS และโครงการ BMA-CareNet
ความสำเร็จในรอบ 15 ปี แห่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข หน้าที่หลักด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร คือ การควบคุมป้องกันโรค รักษาพยาบาล สุขภิบาลและสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมและจัดการอุบัติภัย และดำเนินการตามนโยบายความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากร และพัฒนาบริการที่มีประสิทธิผลและมีคุณภาพโดยใช้ทรัพยากรของกรุงเทพมหานครให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ตัวอย่างความสำเร็จในรอบ 15 ปี (2545-2559)
- การป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด มีผู้ใช้ยาเสพติดเข้าสู่การรักษา 1,393 คน (ช่วงดำเนินโครงการ) พัฒนาศูนย์บำบัดยาเสพติดของกรุงเทพมหานคร ในโรงพยาบาล 2 แห่ง (รพ.วชิรพยาบาล และ รพ.ตากสิน) และศูนย์บริการสาธารณสุข 18 แห่ง ดำเนินการแบบองค์รวม
- การป้องกันโรคเอดส์-โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในผู้ค้าบริการ โครงการฯ โดยสำนักอนามัย ออกปฏิบัติงานเชิงรุก (Mobile Service) เข้าถึงผู้ค้าบริการ เน้นการป้องกันและดูแลรักษา เพิ่มการรณรงค์ให้ความรู้ในโอกาสพิเศษต่างๆ พัฒนาคลินิกกามโรคแบบครบวงจร ในโรงพยาบาล 2 แห่ง (รพ.วชิรพยาบาล และ รพ.ตากสิน) ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 แห่ง และขยายบริการครอบคลุมกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (Men who have sex with men)
- การควบคุมป้องกันวัณโรค มีปัญหาด้าน การค้นหาผู้ป่วย การดูแลให้ผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง อัตราการหายต่ำ และการประสานงานระหว่างหน่วยงานรักษา โครงการฯ ใช้วิธีพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการดูแลอย่างเข้มข้น และประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private-Partnership) ผลการรักษาหายเพิ่มขึ้น
- การเพิ่มคุณภาพการดูแลรักษาโรคเอดส์ พัฒนารูปแบบการติดตามประเมินผลการรักษาและพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ HIVQUAL-T ซึ่งได้รับการปรับใช้ในแผนงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถาบันพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล จัดตั้งศูนย์การรักษาโรคเอดส์ที่เป็นเลิศ (Center of Excellence) ในโรงพยาบาลตากสิน และวชิรพยาบาล
- การเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัยด้านสาธารณสุข ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ทบทวนและประเมินแผนรับอุบัติภัยด้านการควบคุมโรคติดต่อของกรุงเทพมหานคร จัดทำหลักสูตรการอบรมบุคลากรที่ทัยสมัย ถูกต้องตามหลักวิชาการสมัยใหม่ พร้อมทำแผนปฏิบัติงาน (การรับอุบัติภัย) ของกรุงเทพมหานคร
- การพัฒนาศักยภาพบุคลากร อบรมการให้คำปรึกษาโรคเอดส์แก่พยาบาลและผู้ให้คำปรึกษาโรคเอดส์ของกรุงเทพมหานคร มากกว่า 1,000 คน ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร อบรมเจเหน้าที่ด้านวิชาการเฉพาะด้านและเชิงลึกในโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและคุณภาพการดำเนินงาน ส่งเสริมบุคลากรของกรุงเทพมหานครให้เข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการในประเทศ-ภูมิภาค และนานาชาติ เช่น การประชุมเอดส์โลก ฯลฯ อีกทั้ง หน่วยงานของกรุงเทพมหานครยังเป็นแหล่งศึกษาดูงาน การพัฒนาคุณภาพการดูแลโรคเอดส์แก่ประเทศต่างๆ เช่น เอธิโอเปีย ปาปัวนิวกินี เวียดนาม ฯลฯ
“สำหรับความร่วมมือต่อไปในระยะที่ 4 (2560 - 2564) จะมีกรอบความร่วมในด้านการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข พัฒนาระบบและบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมรับอุบัติภัยด้านสาธารณสุข และการควบคุมวัณโรคในกลุ่มแรงงานต่างชาติ ทั้งนี้ ยังได้กำชับในที่ประชุมให้พัฒนาการจัดการโรคติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 90-90-90 นั่นคือ สามารถวินิจฉัยผู้ที่ติดเชื้อ HIV อย่างน้อย 90% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 90% ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และในจำนวนผู้ที่ได้รับการรักษาอย่างน้อย 90% สามารถจำกัดจำนวนเชื้อไวรัสในร่างกายได้ และมีระดับภูมิคุ้มกันที่ดี นอกจากนี้ เพื่อให้การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อต่างๆ เช่น วัณโรค ให้เป็นระบบ ตนได้มอบหมายให้สำนักผังเมือง กทม. จัดทำ Digital Health Map เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” นายทวีศักดิ์ กล่าว |